ตอนที่ 6

ภารกิจที่ไม่มีวันสิ้นสุด เพื่อให้ได้มาซึ่งพลังงานสำรองที่ยาวนานยิ่งขึ้น

ว่ากันง่าย ๆ ก็คือ หากสปริงลานมีพลังงานมากขึ้น พลังงานสำรองก็จะยาวนานยิ่งขึ้น กฎพื้นฐานนี้สร้างความท้าทายให้กับ Grand Seiko และกลายเป็นเรื่องที่เหล่าวิศวกรของ Grand Seiko ทุ่มเทพยายามอย่างต่อเนื่องเพื่อให้บรรลุความท้าทายนี้

คาลิเบอร์ 9S แบบแรกสุดที่ Grand Seiko สร้างขึ้นในปี 1998 นั้นให้พลังงานสำรองได้ประมาณ 50 ชั่วโมง ซึ่งก็เป็นระยะเวลาที่ยาวนานกว่าทุกคาลิเบอร์ที่ถูกสร้างขึ้นก่อนหน้านั้นทั้งหมดอยู่แล้ว และด้วย SPRON (สพรอน) โลหะผสมสูตรเฉพาะของ Grand Seiko และทักษะทางวิศวกรรมภายในองค์กร ก็ช่วยให้สามารถปรับปรุงความยาว ความหนา และความกว้าง ของสปริงลานได้ กลไกความถี่ 8 บีทในปัจจุบันอย่างคาลิเบอร์ 9S65 จึงมอบพลังงานสำรองได้ยาวนานถึงประมาณ 72 ชั่วโมง ความก้าวหน้าเช่นนี้ถูกนำมาใช้กับกลไกไฮ-บีท ความถี่สูง คาลิเบอร์ 9S85 ในปี 2009 ด้วย แม้จะหลีกเลี่ยงความจริงไปไม่ได้ว่า กลไกความถี่ 10 บีท ย่อมต้องการแรงบิดที่มากขึ้นในการขับเคลื่อน การสร้างสรรค์โลหะผสม SPRON ขึ้นมาใหม่อีกแบบหนึ่งทำให้กลไกไฮ-บีท คาลิเบอร์นี้มีพลังงานสำรองประมาณ 55 ชั่วโมง และกลไกไฮ-บีท คาลิเบอร์ 9SA5 ที่ออกมาในปี 2020 ก็ได้ยกระดับมาตรฐานในเรื่องนี้อีกครั้งด้วยการมีพลังงานสำรองประมาณ 80 ชั่วโมง ซึ่งเกิดขึ้นได้จากการนำระบบปล่อยจักรแบบ ดูอัล อิมพัลซ์ และระบบตลับลานแฝด มาใช้

ตลอด 25 ปีที่ผ่านมา กลไกจักรกลซีรี่ส์ 9S ได้รับการพัฒนาและมีวิวัฒนาการในทุก ๆ ด้าน เพื่อเพิ่มระดับประสิทธิภาพให้สูงขึ้น และการเพิ่มประสิทธิภาพในเรื่องของพลังงานสำรองก็เป็นอีกประจักษ์พยานที่มีน้ำหนักยิ่ง